คำกล่าวที่ว่า  เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก  ผู้หญิงส่วนใหญ่คงเห็นด้วยอย่างมาก แต่คุณผู้ชายคงจะไม่เห็นด้วยนัก วันนี้มีบทความน่าสนใจมากที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้หญิงในการดูแลตนเอง และสำหรับคุณผู้ชายเพื่อให้เข้าใจคู่ของคุณมากขึ้น...
pms
ในทฤษฎีวิวัฒนาการที่ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามบอกไว้ว่าผู้หญิงเป็นสัตว์โลกที่พัฒนาไปมากกว่าผู้ชาย โดยดูได้จากสมองกับระบบฮอร์โมนและที่อวัยวะอีกสองสามอย่าง  แต่ไม่ทราบว่าระบบฮอร์โมนพัฒนาไปในทิศทางไหน เหตุใดจึงทำให้ผู้หญิงมีปัญหาร้อยแปดพันเก้าไม่รู้จักจบจักสิ้น… 

จุดเด่นของผู้หญิง คือ เป็นเพศที่ต้องตั้งครรภ์  เหตุที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะผู้หญิงเป็นเพศที่อดทนกว่า   หากให้เพศชายเป็นฝ่ายท้องคงมีเสียงโอดโอยอ้อนฝ่ายภรรยาไม่เลิก ส่วนผู้หญิงนั้นแม้จะเจ็บจะปวดอย่างไรเธอก็ทำใจเข้มแข็ง รับความเจ็บปวดได้ทั้งนั้น  เจ็บปวดมากที่สุดของมนุษย์ คือ การคลอดบุตร ปวดอย่างนี้ผู้ชายคงรับไม่ไหว...  และเป็นเพราะผู้หญิงถูกสร้างขึ้นมาให้เข้มแข็งเช่นนี้หรือเปล่าจึงทำให้เธอต้องผจญกับปัญหาสารพัด และที่เป็นปัญหาให้เธอต้องผจญอยู่ทุกเดือนตั้งแต่แรกรุ่นไปจนถึงช่วงเวลาเป็นสาวใหญ่ก็คือปัญหาการมีประจำเดือนหรือการมีรอบเดือน…

pms

อาการก่อนมีประจำเดือน
เมื่อใกล้มีรอบเดือน ผู้หญิงกว่า 80%   ทั่วโลกมักเกิดความไม่สบายทั้งทางร่างกายและจิตใจ  สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่งที่เรียกว่า PMS หรือ  Premenstrual Syndrome หลายคนต้องสูญเสียสัมพันธภาพกับคนรัก บางคนตัดสินใจด้านธุรกิจผิดพลาดไปในช่วงนี้

Premenstrual Syndrome คือ อาการปวดเกร็งอย่างผิดปกติของมดลูก  ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อเรียบ และ พบว่าการหดตัวอย่างผิดปกตินี้มีความสัมพันธ์กับปริมาณของ Calcium ที่ผิดปกติด้วย
ทุกรอบเดือนผู้หญิงในวัยที่ทางวิชาการ เรียกว่า “วัยเจริญพันธุ์” จะมีเลือดหลั่งออกมาจากช่องคลอด ภาษาอังกฤษใช้คำว่า menses คนไทยหลายคนเรียกกันติดปากว่า เมนส์ มากกว่าที่จะเรียกว่า ประจำเดือน หรือ ระดู  ในภาษาไทยดั้งเดิมของเรา 

ก่อนมีประจำเดือนสักสองสามวัน หรือหากยาวหน่อยอาจเป็นสัปดาห์ ผู้หญิงส่วนใหญ่ซึ่งอาจถึงร้อยละ  90 จะมีอาการไม่สบายทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์ ภาษาทางการแพทย์เรียกอาการกลุ่มนี้ว่า พรีเมนสทรูอัล ซินโดรม (premenstrual syndrome) หรือ  พีเอ็มเอส (PMS) แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า อาการก่อนมีประจำเดือน

อาการในกลุ่มนี้มีตั้งแต่อาการเบาๆ เช่น อารมณ์หงุดหงิด ขี้โมโห ปวดศีรษะ ปวดท้องที่เรียกกันว่าปวดท้องเมนส์ หรือปวดประจำเดือน จนกระทั่งรุนแรงถึงระดับพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งอาการในลักษณะหลังนี้เกิดขึ้นได้น้อยราย

pms

อาการก่อนมีประจำเดือน อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
กลุ่มแรก อาการป่วยทางอารมณ์ ได้แก่ หงุดหงิด ขี้โมโห เครียด คิดมาก กังวล ท้อแท้ หลงลืม บางคนอาจมีอารมณ์แปรปรวนมากกว่านี้ เช่น ซึมเศร้า เพ้อ คลุ้มคลั่ง หรืออาจทำร้ายตัวเอง

กลุ่มอาการที่สองคือ อาการป่วยทางร่างกาย ได้แก่ อาการปวดหรือเจ็บตามบริเวณต่างๆ  เช่น เจ็บทรวงอก ต่อมน้ำนม หรือหัวนม เรียกอาการนี้ว่าแมสทัลเจีย (mastalgia) นอกจากนี้ยังมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง บวม ท้องอืด วิงเวียนศีรษะ เป็นสิว อ่อนเพลีย

กลุ่มอาการที่สามคือ อาการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น หน้าท้องขยาย ร่างกายสะสมน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำหนักเพิ่ม ผู้หญิงบางคนอาจมีน้ำหนักเพิ่มได้ถึง 1-2 กิโลกรัมในช่วงก่อนมีประจำเดือน หลังจากนั้นน้ำหนักจะลดลงได้เอง

อาการไม่สบายขณะมีรอบเดือนพบได้หลากหลายกว่า 150  ชนิด แบ่งเป็น 5 กลุ่มใหญ่ รายละเอียดมีอะไรบ้าง มาลองดูกันค่ะ 

เจ้าน้ำตา   ลักษณะอาการ หดหู่  ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ ตัดสินใจอะไรยาก สับสนและหลงลืมบ่อย ๆ นอนไม่พอ เหนื่อยง่าย  รู้สึกเหมือนไม่ได้พักผ่อน 
วิธีบำบัด  ดูแลโภชนาการให้ดี  บริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำให้มากขึ้น เพราะเกลือและไขมันที่สูงจะไปเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ นอกจากนี้ควรหาเวลางีบเมื่อรู้สึกเหนื่อย ทำสมาธิหรือเล่นโยคะ บริโภคแร่ธาตุที่จำเป็นให้มากขึ้นในช่วงนี้ คือ สังกะสี (Zinc)เนื่องจากสังกะสีจะช่วยลดอาการเศร้า หดหู่ได้

ขี้โมโห ลักษณะอาการ หมดความอดกลั้นจนระเบิดอารมณ์บ่อย ๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย อารมณ์แปรปรวนจนตามไม่ทัน วิตกกังวลกว่าปกติที่เคยเป็น หุนหัน  ทำอะไรโดยไม่ยั้งคิดบ่อย ๆ รู้สึกสูญเสียโดยไม่มีสาเหตุ  
วิธีบำบัด  บริโภคอาหารมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น อาการนี้เกิดขึ้นเพราะขาดน้ำตาลในเลือดทำให้หงุดหงิดง่าย การออกกำลังกาย เช่น การเดิน หรือ การปั่นจักรยาน จะช่วยให้ร่างกายปล่อยเอ็นดอร์ฟินทำให้อารมณ์ดีขึ้น รวมทั้งควรบริโภควิตามินบี  6  และอย่าลืมบอกกล่าวคนใกล้ตัวด้วย เขาจะได้พร้อมที่จะให้อภัย

ท้องอืด ลักษณะอาการ  อาจมีความรู้สึกว่าเต้านมบวมและนุ่มกว่าเดิม  เหมือนเนื้อเหลวเช่นเดียวกับหน้าท้อง บางรายอาจมีอาการเต้านมคัด ตึง น้ำหนักขึ้น มือเท้าบวมจนสังเกตได้ มีอาการบวมน้ำตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หน้าท้องป่องออกมากกว่าปกติ
วิธีบำบัด  ควรลดการบริโภคเกลือลง  ออกกำลังกายให้ได้สัปดาห์ละ  3   ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 20  นาที  เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย  อาหารที่มีโปรตีนและไฟเบอร์สูงจะช่วยให้หน้าอกกระชับขึ้น เช่นเดียวกับวิตามินบี  6 และน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสที่ช่วยแก้ปัญหาหน้าอกนุ่มเหลวได้ แต่ก่อนบริโภคน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส ต้องแน่ใจก่อนนะคะว่าคุณไม่มีก้อนเนื้อผิดปกติอยู่ภายในร่างกายเพราะน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสจะกระตุ้นให้ก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้นได้  และหากมีอาการท้องอืดหรืออาหารไม่ย่อย  ควรงดการดื่มกาแฟและแอลกอฮอล์ก่อนมีรอบเดือนไม่น้อยกว่า  2 สัปดาห์

ไม่มีแรง ลักษณะอาการ ไม่มีแรง ใจสั่น อารมณ์อ่อนไหวง่าย  ร่างกายเจ็บปวดบ่อยโดยไม่มีสาเหตุ ขาดความกระตือรือร้นทางเพศ มีปัญหาเกี่ยวกับผิวในช่วงที่มีรอบเดือน เช่น สิว ฝ้า ปวดศีรษะ ปวดหลัง 
วิธีบำบัด   การที่ผิวมีปัญหา ร่างกายเจ็บปวด หรือเป็นตะคริว เกิดจากการผันแปรของฮอร์โมนเพศ ดังนั้นควรงดอาหารหวานจัด แอลกอฮอล์ บุหรี่  และสารกระตุ้นทุกชนิด ควรเดินออกกำลังอย่างน้อยวันละ 30 นาทีรวมทั้งบริโภควิตามินเอ เพื่อช่วยรักษาสภาพผิว หรือน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส  ซึ่งมีกรดแกมมาไลโนเลอิก ที่ช่วยรักษาสมดุลของฮอร์โมนได้ แต่อย่าลืมเรื่องของเนื้องอกที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้นะคะ

หิวบ่อย ลักษณะอาการ จะรับประทานมากกว่าปกติ อยากอาหารหวานจัด เช่น เค้ก หรือ ช๊อกโกแลต อาหารเค็ม เช่น พิซซ่า หรือ พวกถั่วอบเกลือ และมีอาการเวียนศีรษะบ่อย ๆ
วิธีบำบัด สาเหตุของอาการหิวบ่อยเกิดจากการที่สารเซโรโทนินลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนมีรอบเดือน ทำให้ต้องการคาร์โบไฮเดรตมากกว่าปกติ เพื่อให้ร่างกายใช้ของหวานไปเพิ่มสารนี้ ควรควบคุมโภชนาการให้ถูกต้องและหากิจกรรมอื่นทำบ้าง จะได้ไม่คิดถึงแต่เรื่องกินตลอดเวลา หรือไม่ก็รับประทานเป็นผลไม้แทน  บางคนอาจมีอาการปนเปกันมากกว่า  1 กลุ่ม ซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติ   และหากพบว่าตนเองมีอาการอยู่ในกลุ่มใดก็บำบัดให้ถูกต้องจะไม่ได้ต้องทรมานกันทุก ๆ เดือน แต่อาการเหล่านี้เป็นอาการเพียงชั่วคราว หากคนรอบข้างเข้าใจ ให้กำลังใจ เชื่อว่าสาว ๆ ทุกคนคงผ่านช่วงเวลาดังกล่าวไปได้ไม่ยากเลยค่ะ

pms
หากได้ลองสอบถามแพทย์ว่าเพราะอะไรผู้หญิงจึงได้มีอาการก่อนมีประจำเดือน แพทย์หลายคนจะตอบว่าเป็นเพราะสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ โดยเชื่อกันว่ามีฮอร์โมนอยู่สองชนิดที่น่าจะเกี่ยวข้องกับอาการนี้ นั่นคือ ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (Progesterone) และ โพรแลกติน (prolactin)

ก่อนมีประจำเดือน ฮอร์โมนของเพศหญิงทั้ง  2 ชนิดนี้จะมีระดับสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายเช่นนี้มีผลทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด ขี้โมโห รวมทั้งอีกสารพัดอาการ หลายต่อหลายคนจึงทึกทักเอาว่าลักษณะอารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของผู้หญิง ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อเพศหญิงนัก

แต่ก็มีแพทย์อยู่บางส่วนที่ไม่เชื่อว่าอาการก่อนมีประจำเดือนเกี่ยวข้องกับสมดุลของฮอร์โมน ทั้งนี้ก็เพราะหากทดลองฉีดฮอร์โมนกลุ่มนี้เข้าร่างกายของผู้หญิงในยามที่เธอไม่มีประจำเดือน  จะพบว่ามีไม่กี่คนที่เกิดอาการก่อนมีประจำเดือน ดังนั้นอาการก่อนมีประจำเดือนจึงน่าจะเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนมากกว่าที่จะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน

อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงของอาการก่อนมีประจำเดือนจึงยังไม่มีใครรู้แน่ชัด แพทย์บางส่วนเชื่อว่าอาการก่อนมีประจำเดือนเป็นอาการทางจิตเกิดขึ้นจากความกังวลในเรื่องการมีประจำเดือนมากกว่า ผู้หญิงหลายคนห่วงเรื่องความปกติและไม่ปกติของการมีรอบเดือนค่อนข้างมาก ความกังวลนี่เองที่มีผลทำให้เกิดอาการก่อนมีประจำเดือนขึ้น แต่ความเห็นเช่นนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติ

อาหารสำหรับผู้มีประจำเดือน
นักโภชนาการบางคนเชื่อว่าอาการก่อนมีประจำเดือนเกิดกับคนที่มีภาวะโภชนาการไม่ดี ความเชื่อเช่นนี้ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ แต่จะอย่างไรก็ตาม การได้รับอาหารอย่างถูกต้องน่าจะช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนได้บ้าง

มีอาหารเสริมสุขภาพชนิดหนึ่งที่มักนิยมแนะนำให้ผู้หญิงก่อนมีรอบเดือนรับประทานอาหารเสริมที่ว่านี้คือ

น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส Evening Primrose Oil (EPO)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Oenothera biennis L.
ชื่อสามัญ: night willow-herb, scabish, sun drop

pms

ข้อมูลทั่วไป: เมื่อนึกถึงกรดไขมันจำเป็น โอเมก้า-6 (Omega-6) ผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดถึงน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสก่อนเสมอ น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสสกัดได้จากเมล็ดของต้นอีฟนิ่งพริมโรส ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นในแถบอเมริกาเหนือ  และปัจจุบันสามารถปลูกได้ในทวีปยุโรปและเอเชีย  มีคนกล่าวขานกันว่าอีฟนิ่งพริมโรสเป็นพืชแก้ไข้ หรือราชาแห่งการรักษาทุกชนิด (King's cure all) ชื่อของมันบ่งบอกถึงลักษณะการบานของมัน  คือบานในตอนเย็นแล้วก็ร่วงโรยไปในวันนั้นเอง

อีฟนิ่งพริมโรสมีการปลูกกันและนำน้ำมันจากเมล็ดมาใช้ในการทำยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เสริมเป็นสารอาหาร และประยุกต์ใช้ในทางโภชนาการด้านต่างๆ  น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสเป็นหนึ่งในตำรับยารักษาโรคที่ใช้กันมากว่า 20 ปีแล้ว  ชนพื้นเมืองของอเมริกาใช้น้ำมันดังกล่าวเป็นยารักษาอาการไอเพราะหอบหืด  โรคในกระเพาะอาหารและลำไส้ และแผลถลอก จากการค้นคว้าวิจัยทั้งหลายพบว่า  น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสเป็นแหล่งอาหารชั้นดี ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันจำเป็นชนิดไม่อิ่มตัวที่เรียกว่า กรดแกมมา-ไลโนลินิค  (เรียกย่อๆว่า : จี แอล เอ ) ปริมาณจี แอล เอ ที่พบในน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสมีอยู่ราว 8-14 %  แกมมาไลโนลินิค  เป็น วัตถุดิบในการสร้าง Prostaglandins (PGE1 , PGE3) ซึ่งออกฤทธิ์ลดการอักเสบตามร่างกาย และช่วยขยายหลอดเลือด   จึงเชื่อกันว่าช่วยลดอาการอักเสบได้บ้าง  และยังพบ กรดไลโนเลอิค (หรือ แอล เอ)   อยู่อีก 65-80%  กรดไลโนเลอิคเป็นองค์ประกอบในชั้นไขมันของผิวหนัง  ถ้าขาดจะทำให้ผิวแห้ง เป็นขุย หยาบกร้าน อักเสบได้ง่าย

ส่วนที่ใช้: เมล็ด 

ประโยชน์: น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส ถูกใช้ในการรักษาโรคและภาวะผิดปกติต่างๆ  ซึ่งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการมีสาร จี แอล เอ คุณภาพสูงอยู่นั้นเอง  ดังนั้นน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสจึงถูกใช้เป็นสารอาหาร เพื่อเสริมในการเจ็บป่วยหลายกรณี  เช่น
-  อาการปวดในช่วงก่อนและระหว่างมีประจำเดือน รวมทั้งอาการปวดหน้าอก (Premenstrual Tension)
- อาการปวดข้อรูมาตอยด์ 
- โรคผิวหนังเอคซีม่า และโรคความผิดปกติเกี่ยวกับผิวหนัง (Seborrhea Disease)
- อาการของโรคเบาหวานที่มีผลต่อปลายประสาท (Diabetics Peripheral Neuropathy)
- โภชนาการของทารก
- ความชราภาพ 
- อาการอักเสบของสิวหัวช้าง (Comedone)
- โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ 
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- การติดเชื้อไวรัสบางอย่าง
- โรคพิษสุราเรื้อรัง  

อาการเมื่อขาด:
จี แอล เอ เป็นกรดไขมันจำเป็นไม่อิ่มตัวชนิดสายยาว ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นต่อการบำรุงรักษาโครงสร้างของเซลล์ให้เป็นปกติ  และจำเป็นต่อกระบวนการในการผลิตสารตั้งต้นของโพรสตาแกลนดิน   การได้รับกรดไขมันจำเป็นดังกล่าวจากอาหารลดลง  หรือการเพิ่มความต้องการของสารตั้งต้นของ โพรสตาแกลนดิน จะทำให้เกิดอาการขาด จี แอล เอได้

ความปลอดภัย:
เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการลงความเห็นและยืนยันจากสภาแห่งสุขภาพของออสเตรเลีย (Complementary Healthcare Council of Australia) เพื่อรับรองว่าน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสปลอดภัยจริง  
ผลข้างเคียงจากการใช้อีฟนิ่งพริมโรสมีน้อยมากแต่อาจเกิดขึ้นได้คือ อุจจาระเหลว  การเรอ และมีอาการบวมในช่องท้อง

ปฎิกริยากับสารอื่น: น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสอาจมีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการชัก  เนื่องจากความผิดปกติของระบบประสาทบริเวณขมับในผู้ป่วยชิโซฟรีเนีย (Schizophrenia คือโรคที่มีความผิดปกติทางจิตซึ่งผู้ป่วยมีอาการเก็บเนื้อเก็บตัว หวาดระแวง หรือหมกมุ่นอยู่กับอะไรบางอย่าง)   ที่รักษาด้วยยากดอาการชัก เช่น ฟีโนไธอะซีน (phenothiazine) ส่วนปฏิกิริยากับสมุนไพรและยาอื่นนั้นยังไม่พบว่ามีรายงานออกมา

สรรพคุณของน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสกับอาการก่อนมีประจำเดือนยังไม่มีข้อยุติ หลายคนยืนยันว่าน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสจะช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศหญิงได้ เมื่อรับประทานแล้วจะลดอาการเจ็บทรวงอก เจ็บเต้านม  ทั้งยังทำให้อาการก่อนมีประจำเดือนลดลงได้ด้วย แต่ขณะเดียวกันคนหลายคนกลับยืนยันว่าการรับประทานน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสไม่ได้ช่วยอะไรเลย…

นายแพทย์มอร์ส (P. F. Morse) และคณะ ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษชื่อ British Journal of Dermatology เมื่อปี ค.ศ.1989  โดยทดลองให้ผู้หญิงที่มีอาการก่อนมีประจำเดือน รับประทานน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส แล้วดูผลของยาเปรียบเทียบกับยาหลอก (placebo) ที่มีลักษณะเหมือนน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสทุกประการ  ผลปรากฏว่าหญิงเหล่านั้นมีอาการดีขึ้นทั้งในกลุ่มที่รับประทานน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสจริงและกลุ่มที่รับประทานยาหลอก  บ่อยครั้งที่พบว่าผู้หญิงที่มีอาการก่อนมีประจำเดือน รับประทานยาหลอกแล้วหลายคนมีอาการดีขึ้น จึงทำให้แพทย์บางคนเชื่อว่าอาการก่อนมีประจำเดือนเป็นอาการทางจิตประเภทหนึ่ง ขอเพียงให้รู้สึกว่าตนเองได้รับการรักษาเท่านั้นอาการก็ดีขึ้นได้แล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดอาการก่อนมีประจำเดือนขึ้น แพทย์และนักโภชนาการบางคนแนะนำให้เสริมวิตามินสักเล็กน้อย ได้แก่ วิตามินบี 6 ก็น่าจะทำให้อาการทางอารมณ์ลดลงได้

pms

ที่สำคัญสำหรับการรักษาอาการก่อนมีประจำเดือน คือ  อย่าลองผิดลองถูกหรือเสาะหาวิตามินปริมาณมากๆ มารับประทาน เพราะจะเกิดโทษมากกว่าประโยชน์ คำแนะนำที่ดีคือขอให้รับประทานอาหารให้เป็นปกติ งดหรือลดชา กาแฟ ลดอาหารไขมัน หากสามารถเพิ่มอาหารประเภทเนื้อหรือถั่วเพื่อเสริมธาตุเหล็กบำรุงเลือดบ้างจะช่วยได้มากขึ้น

ผู้ที่ติดเหล้าหรือเป็นเบาหวานอาจต้องระวังเรื่องอาการก่อนมีประจำเดือนสักหน่อย เพราะคนกลุ่มนี้จะมีเอนไซม์บางตัวในร่างกายทำงานผิดปกติ จึงต้องลดเหล้า ผู้ป่วยเป็นเบาหวานจะต้องควบคุมน้ำตาลในเลือดในช่วงก่อนมีประจำเดือนให้อยู่ในระดับปกติ จะช่วยลดอาการได้มาก

ผู้ที่เครียดง่าย เครียดบ่อย หรือเป็นคนขี้หงุดหงิดอยู่แล้วอาจเสริมสารอาหารบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเอนไซม์เพื่อลดอาการ เช่น  เสริมวิตามินบี 6 ตามที่กล่าวไว้แล้วด้านบน หรือเสริมธาตุสังกะสี และวิตามินซี ร่วมด้วยก็ได้ แนะนำให้ออกกำลังกาย รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น เพิ่มอาหารทะเล พร้อมทั้งงดชา กาแฟ ส่วนใครที่ชอบดื่มเครื่องดื่มชูกำลังก็ขอให้ลดลงในช่วงนี้ และสุดท้ายคงต้องหัดฝึกสมาธิระงับจิตระงับใจไว้บ้าง น่าจะได้ผลดีที่สุด...