การเดินทางที่มีความสุข เริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมตัวเก็บข้าวของลงกระเป๋าเลยนะคะ มีเคล็ดลับการเก็บกระเป๋าไปพักผ่อนชายทะเลมาฝาก เพื่อให้สาว ๆ ได้เตรียมพร้อมทั้งของจำเป็นและของใช้ยามฉุกเฉิน จะได้สวยอย่างมั่นใจในทุกที่และทุกเวลา
ของสำคัญ..ประจำกระเป๋า
1. นอกจากกระเป๋าเสื้อผ้าแล้ว ให้หากระเป๋าอีกใบที่มีขนาดใหญ่พอที่จะใส่ของจุกจิกที่จำเป็นได้ เช่น ครีมกันแดด ลิปบาล์ม โทรศัพท์มือถือ ผ้าปูนอนเล่นชายหาด ฯลฯ โดยเลือกชนิดที่ทนทาน ดูแลง่าย และกันน้ำได้ เช่น กระเป๋าไวนิลใส หรือจะเป็นกระเป๋าผ้าใบก็ไม่เลวค่ะ
2. ชุดเมคอัพที่จำเป็น ควรเลือกชนิดที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างในหนึ่งเดียว เช่น ครีมบลัชที่ช่วยเพิ่มสีสันให้กับแก้ม ตา และริมฝีปาก ทำให้ใบหน้าดูสว่างสดใสขึ้น และยังใช้ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน มาสคาร่าชนิดกันน้ำ และลิปกลอสสีสันชุ่มฉ่ำที่มีสารกันแดด โดยสังเกตที่ข้างขวดจะระบุค่า SPF ไว้
3. แว่นกันแดดที่สามารถป้องกันรังสียูวีได้ และสีเข้มพอที่จะสู้แดดจ้าได้โดยไม่ต้องหยีตา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของริ้วรอยรอบดวงตา
4. ชุดว่ายน้ำเก๋ไก๋ทันสมัยที่เหมาะกับรูปร่าง เพิ่มความมั่นใจ และประโยชน์ใช้สอย
5. เตรียมตัวกำจัดขนตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายล่วงหน้าอย่างน้อย 2 - 3 วัน ไม่ว่าจะเป็นขนบริเวณใต้วงแขน ตามแนวบิกินี หรือแม้แต่ขนหน้าแข้ง เพื่อความเรียบเนียนของผิว และป้องกันการอักเสบจากการระคายเคืองเมื่อผิวหนังถูกความร้อนจากแสงแดด
6. เตรียมผลิตภัณฑ์ปกป้องเส้นผมที่มีสารกันแดด เพื่อป้องกันรังสียูวีที่จะทำให้ผมแห้งเสีย รวมถึงการถูกทำลายจากน้ำทะเลและคลอรีน ควรเผื่อยางรัดผมและหมวกสักใบไปด้วย จะได้ใช้ทันทีที่ต้องการ และยังมีประโยชน์คือช่วยไม่ให้เส้นผมพันกันเมื่อถูกลมหรือเปียกน้ำ
7. ติดชุดผ้าฝ้ายที่ใส่สบาย ๆ สำหรับใส่เวลาเดินเล่นชายหาดหรือไปทานข้าวกลางวัน แล้วอย่าลืมนำชุดท่องราตรีเก๋ ๆ ที่เหมาะกับหน้าร้อนใส่กระเป๋าไปด้วยนะคะ
8. โยนครีมกันแดดค้างปีทิ้งไปได้เลย เพราะครีมกันแดดที่เปิดใช้แล้วและเก็บไว้นาน ๆ จะทำให้ประสิทธิภาพลดลง เดี๋ยวช่วงท้ายจะมีวิธีการเลือกครีมกันแดดมาให้อ่านกันค่ะ
9. ทำเล็บเท้า ไม่มีโอกาสไหนจะเหมาะสำหรับการใส่รองเท้าสานคู่โปรด ทำให้เราสามารถโชว์เท้าและเล็บสีสวย ๆ ให้เตะตาใครต่อใคร ได้เท่าช่วงเวลาแบบนี้อีกแล้ว
10. ทบทวนให้ดีว่าลืมของใช้ส่วนตัวอะไรอีกไหม คงไม่สนุกแน่ ๆ ถ้าต้องวิ่งวุ่นวายหาซื้อของจำเป็นในขณะที่คนอื่น ๆ นอนอาบแดดอย่างมีความสุข
ผิวสวยและแสงแดด
หากอยากมีสุขภาพผิวที่สวยสมบูรณ์ ปราศจากมะเร็งผิวหนัง และริ้วรอยกระฝ้า ข้อมูลต่าง ๆ ต่อไปนี้เป็นประโยชน์ต่อคุณแน่ ๆ ...
ผิวส่วนที่ไม่ถูกแดดก็อาจเป็นมะเร็งผิวหนังได้
จากสถิติพบว่า มะเร็งผิวหนังที่เกิดกับผิวส่วนที่ถูกแดดจริง ๆ มีเพียง 22% เท่านั้น ที่เหลือจะเกิดกับผิวส่วนที่ไม่ถูกแสงแดดสม่ำเสมอ เช่น จากไฝหรือผิวที่มีเม็ดสีผิดปกติต่าง ๆ แม้ในร่มผ้าก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งได้เช่นกัน เพราะแสงแดดจะทำให้ความต้านทานของผิวทั้งหมดลดลง ไม่ใช่แค่เฉพาะส่วนที่ถูกแดดเท่านั้น ไม่ว่าผิวส่วนไหนก็อาจเป็นมะเร็งได้
แล้วจะเลือกซื้อครีมกันแดดอย่างไรดี
คนส่วนใหญ่ทาครีมกันแดดแค่ 1 ใน 3 ของปริมาณจำเป็นจริง ๆ ที่ควรใช้เท่านั้น บางคนชอบซื้อขวดเล็ก ๆ เพราะประหยัด ที่ถูกคือต้องซื้อขวดใหญ่และทาให้ทั่วก่อนออกจากบ้าน อย่าลืมทาบริเวณที่นึกไม่ถึง เช่น หลังใบหู เปลือกตาและด้านหลังน่อง ควรทาซ้ำทุก ๆ 90 นาที หากอยู่กลางแดดตลอดเวลา และไม่ควรใช้หลายยี่ห้อผสมกัน เพราะส่วนผสมในครีมกันแดดจะมีความเข้มข้นไม่เท่ากัน เนื่องจากพื้นฐานของสารเคมีต่างกัน จึงควรใช้ยี่ห้อเดียวจะได้ผลกว่า
ครีมกันแดดที่เหมาะกับผิวเป็นแบบไหน
ดร.สกอต เมนซี แพทย์ผิวหนังชาวออสเตรเลีย แนะนำให้ใช้ครีมกันแดดที่มี SPF30++ ขึ้นไป ที่ระบุว่าสามารถปกป้องผิวได้ทั้งจากรังสียูวีเอ (สาเหตุของการเกิดริ้วรอย) และรังสียูวีบี (สาเหตุของอาการไหม้บนผิว) และเลือกชนิดที่ทนทานต่อเหงื่อและน้ำที่ระบุว่าเป็น Water-resistant ถ้าเป็นคนผิวบอบบาง แพ้ง่าย ควรเลือกครีมกันแดดชนิดที่มีส่วนผสมของไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) และเลือกชนิดที่ปราศจากส่วนผสมของน้ำหอม
ระยะเวลาในการตรวจเช็คผิวหนัง
หากมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือมีไฝหรือหูด ตลอดจนสิ่งผิดปกติบนผิวหนัง ควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจเช็คอย่างน้อยปีละครั้ง หรือแพทย์อาจระบุให้มีการเช็คสุขภาพผิวโดยละเอียดในโปรแกรมเช็คสุขภาพประจำปีก็ได้
สาเหตุและเวลาที่เลวร้ายที่สุดของการอาบแดด
เวลาอันตรายคือตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึงบ่าย 2 โมง หรือช่วง 11 โมง ถึงบ่าย 3 เพราะเป็นช่วงที่จะได้รับรังสีอัลตร้าไวโอเลตจากดวงอาทิตย์มากถึง 60% เลยทีเดียว
วิธีสังเกตอาการมะเร็งผิวหนัง
เริ่มจากการสังเกตจุดด่างดำที่ผิดปกติบนผิวหนังที่แผ่กว้างขึ้นโดยเฉพาะช่วงหลังหมดรอบเดือน การขยายของผิวที่ผิดปกติหรือมีเลือดออก การเปลี่ยนขนาด รูปร่างหรือสีที่ผิดไป เมื่อเกิดสิ่งผิดปกติดังกล่าว ควรไปตรวจทุกครั้ง อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งผิวหนังได้
ช่องโหว่ของชั้นโอโซนกับความเสี่ยงของมะเร็งผิวหนัง
ศาสตราจารย์โรบิน มาร์ตส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผลสะท้อนของชั้นโอโซนกับโรคมะเร็งผิวหนังของออสเตรเลียระบุว่า ชั้นโอโซนที่โหว่และบางลง เป็นสาเหตุหลักของอัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ แต่ในขณะนี้สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือ การสะท้อนกลับของรังสีทั้งสองชนิดที่เกิดจากการใช้สารเคมีที่ทำให้เกิดสภาวะขาดโอโซน เช่น สารจากผลิตภัณฑ์โพลีสไตรีน เรซิ่นที่ใช้ในการทำฐานฟัน สารจากยาฆ่าแมลงและจากเครื่องปรับอากาศ ดังนั้นช่องโหว่ของชั้นโอโซนไม่ได้ทำให้ระดับความเสี่ยงเรื่องมะเร็งผิวหนังในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเท่ากับความเสี่ยงที่เราได้รับจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้
การปกป้องผิวจากแสงแดด
ผิวที่ถูกแสงแดดแรง ๆ เป็นประจำ อาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ ผิวควรได้รับการปกป้องจากการทำลายของรังสียูวีที่ทำให้ผิวแก่ก่อนวัย แม้ผิวจะสามารถต่อต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ด้วยสารแอนตี้ออกซิแดนท์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในร่างกายอย่างซุปเปอร์ออกไซด์ ดิสมิวเทส (superoxide dismutase) กลูทาไธโอน (Glutathione) และเมลานิน (Melanin) รวมทั้งวิตามินเอ ซี อี แต่ภายใต้แสงแดดอันร้อนแรงและมลพิษต่าง ๆ นอกจากอนุมูลอิสระจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วแล้ว สารต่อต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติในร่างกายแม้จะมีอยู่มหาศาลก็จะโรยแรงไปด้วยรังสียูวี เช่น เมื่อตากแดดเกินกว่า 20 นาที ระดับกลูทาไธโอนจะลดลงอย่างรวดเร็ว นั่นคือเหตุผลที่เราจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดด..
วิธีการเลือกใช้ครีมกันแดด
เลือกครีมกันแดดให้เหมาะสมกับลักษณะกิจกรรมที่ทำ เช่น ตากแดดมากควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงขึ้น หรือว่ายน้ำควรใช้ครีมกันแดดที่กันน้ำได้ด้วย เป็นต้น และเลือกครีมกันแดดที่ผสมสารกันแดดทั้งรังสียูวีเอและยูวีบี
วิธีการทาครีมกันแดด
ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดประมาณ 10 - 20 นาที และควรใช้ปริมาณมากถึง 2 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ผิว 1 ตารางเซ็นติเมตร หรือประมาณ 1 ช้อนชา บริเวณใบหน้าและลำคอ ประมาณช้อนหวานสำหรับแขนแต่ละข้าง และประมาณ 1 ช้อนโต๊ะสำหรับขาแต่ละข้าง ในชีวิตจริงคนทั่วไปทาไม่ถึงครึ่งหนึ่งจากที่กำหนด เมื่อโดนแสงแดด มีเหงื่อ ครีมกันแดดบางส่วนจะหลุดออกไป จึงควรทาซ้ำ แม้จะใช้ครีมกันแดดที่ดีเพียงใด ก็ไม่อาจกันแดดได้ทุกช่วงคลื่น ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือควรหลีกเลี่ยงการตากแดดโดยไม่จำเป็น
สารกันแดดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
ชนิดกายภาพ (Physical Sunscreen) เป็นสารที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสง ไม่ทำปฏิกิริยากับผิวหนังและไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) ซิงค์ ออกไซด์ (Zinc Oxide) สารกันแดดนี้สามารถกันได้ทั้งรังสียูวีเอ ยูวีบี แสงที่เห็นได้ และอินฟราเรด แต่มีข้อเสียบ้างคือทำให้หน้าขาว ในปัจจุบันมีการทำให้สารกลุ่มนี้กันแดดได้ดีและหน้าไม่ขาวเว่อ
ชนิดเคมี (Chemical Sunscreen) เป็นสารที่มีคุณสมบัติดูดซับพลังงานแสงไว้ไม่ให้ผ่านไปทำปฏิกิริยากับผิวหนัง สารนี้เมื่อดูดซับพลังงานแสงจะเปลี่ยนองค์ประกอบไป และอาจทำปฏิกิริยากับผิวหนัง ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ สารกลุ่มนี้มีคุณสมบัติป้องกันแสงแดดได้เป็นบางช่วงคลื่น เช่น ออกซี่เบนโซน (Oxybenzone) ป้องกันรังสียูวีบี ไดเบนโซอิลมีเธน (Dibenzoylmethane) ป้องกันรังสียูวีเอ
Tips:
- เมื่อต้องออกไปผจญแดดกล้า ควรมองหาครีมกันแดดที่มีส่วนผสมขอแคโรทีน (Carotene) เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ผิวถูกทำลายจากแสงแดดและลุกลามกลายเป็นมะเร็งที่ผิวหนังได้ และยังช่วยให้ผิวเป็นสีแทนเร็วขึ้น เมื่อแคโรทีนสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงจะเกิดปฏิกิริยากลายเป็นสีออกส้ม ๆ ซึ่งจะทำให้ผิวเป็นสีแทนสวยสม่ำเสมอแถมยังประหยัดเวลาและปลอดภัยอีกด้วย
- คิดไว้เสมอว่า ถึงแม้จะนั่งเล่นในที่ร่มกลางชายหาดก็ใช่ว่าจะปลอดภัยจากรังสียูวีได้ เนื่องจากแสงแดดสามารถสะท้อนตรงมาสู่ผิวเราโดยผ่านทางน้ำทะเลและพื้นทราย ซึ่งเป็นอันตรายต่อผิวพอ ๆ กันกับการออกไปกระโดดโลดเต้นกลางแดดเปรี้ยง ๆ นั่นเอง
- สามารถลบรอยชุดว่ายน้ำที่เกิดขึ้นหลังอาบแดดได้โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผิวเป็นสีแทนโดยไม่ต้องโดนแดดที่เรียกว่า Self Tanning ทาลงบนผิวที่เป็นรอยด่างนั้น แล้วรอประมาณ 1 ชั่วโมง จะพบว่ารอยด่างจางลง ถ้ายังไม่พอใจสามารถทาซ้ำอีกครั้งและอยู่ได้นานเป็นอาทิตย์
อภิธานศัพท์
SPF (Sun Protection Factor) หมายถึง ค่าความสามารถในการปกป้องผิวจากแสงแดด บ่งบอกถึงระดับการป้องกันรังสียูวีบี
PA บ่งบอกระดับการป้องกันรังสียูวีเอ
PA+++ คือ ระดับการป้องกันสูงสุด
Water-Resistant คือความสามารถในการกันน้ำ และควรทาซ้ำทุก 40 นาที เมื่อยังต้องอยู่ในน้ำ